วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มด

มด


           คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับมด เนื่องจากมดสามารถพบอาศัยได้ทุกแห่งทุกหน แต่มีคนไม่มากนักที่รู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของมด ส่วนใหญ่รู้จักมดในฐานะเป็นศัตรูหรือสิ่งที่น่ารำคาญที่ไม่มีคุณค่าอะไร เป็นความจริงว่า มดบางชนิดเป็นศัตรู (pest)ตัวอย่างเช่น มดที่อยู่ในบ้านหรือพวกที่กัดเมล็ดพืช และบางชนิดจะป้องกันแมลงพวกดูดกินน้ำเลี้ยง มดบางชนิดกัดและต่อย ทำให้เป็นการยากที่จะหันมาสนใจมดเนื่องจากมดมีขนาดเล็กและดูผิวเผินคล้ายกันมาก ไม่เหมือนกับพวกผีเสื้อ น่าสนใจและสวยงามมากกว่า
 
          อย่างไรก็ตาม มดมีการจัดระบบภายในสังคมและพฤติกรรมเหมือนๆ กัน มดทั้งหมดจัดอยู่ในวงศ์ Formicidae เพียงวงศ์เดียวเท่านั้น อยู่ในอันดับ Hymenoptera เช่นเดียวกับพวกผึ้ง ต่อ แตน ลำตัวมดมีสีแตกต่างกัน ได้แก่ สีแดง สีดำ และสีน้ำตาล มีขนาดแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด ระหว่าง 1-20 มม. ลักษณะของมดที่แตกต่างจากแมลงอันดับอื่นๆ คือ ปล้องท้อง ปล้องที่ 1 เชื่อมติดกับอกปล้องที่ 3 ซึ่งจะเรียกว่า propodeumบางชนิดบริเวณนี้จะมีหนาม 1 คู่ มดมีเอวที่เกิดจากปล้องท้องปล้องที่ 2 เพียงปล้องเดียวหรือจากปล้องท้องที่ 2 และปล้องท้องที่ 3 อาจเป็นก้านหรือเป็นปุ่ม ขึ้นอยู่กับชนิดของมด เป็นลักษณะที่ไม่พบในพวกต่อสน (sawfiles)
           ส่วนลักษณะอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับพวกผึ้ง ต่อ แตน คือ อวัยวะวางไข่ซึ่งลดหน้าที่ลงไป ปกติจะใช้ในการวางไข่ แต่ในแมลงกลุ่มนี้จะดัดแปลงเป็นเหล็กใน (sting organ) ใช้ในการป้องกันตัว ถึงแม้ว่าปลวกซึ่งเรียกว่า white ant หรือมดขาวเป็นแมลงสังคมเช่นกัน แต่ก็แตกต่างจากมดทั้งทางด้านลักษณะสัณฐานและพันธุกรรม ปลวกจัดอยู่ในอันดับ Isoptera มีความใกล้ชิดกับพวกแมลงสาบ ส่วนมดนั้นใกล้ชิดกับต่อ แตน

   รูปร่างทั่วไปของมด
           ลักษณะภายนอกของมดโดยทั่วไปก็เหมือนกับแมลงกลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ลำตัวแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง แต่ที่พิเศษแตกต่างไปจากแมลงกลุ่มอื่นเพิ่มขึ้นมาก็คือ มีเอว (waist) แต่ละส่วนจะมีอวัยวะและลักษณะต่างๆ ปรากฏซึ่งจะแตกต่างไปตามแต่ละชนิด

       ส่วนหัว
       เป็นส่วนแรกของลำตัว มีรูปร่างหลายแบบ เช่น ห้าเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม วงรี หรือหัวใจ เป็นที่ตั้งของอวัยวะที่สำคัญบางชนิด ได้แก่
          -  หนวด ( Feeler )เป็นลักษณะหนึ่งที่แตกต่างไปจากแมลงกลุ่มอื่น คือ เป็นแบบหักข้อศอก (geniculate) โดยทั่วไปจำนวนปล้องหนวดของมดงานอยู่ในช่วง 4-12 ปล้อง ส่วนใหญ่มี 12 ปล้อง ปล้องแรกเรียกว่า ฐานหนวด (scape) มีลักษณะค่อนข้างยาวกว่า ปล้องที่เหลือรวมกัน พบได้ในมดงานและราชินี ส่วนเพศผู้ ส่วนมากมีฐานหนวดสั้นมากกว่าปล้องที่เหลือรวมกัน ปล้องที่เหลือ
             จากฐานหนวดเรียกว่า ปล้องหนวด (funiculus) มีจำนวน 3-11 ปล้อง แต่ละปล้องโดยทั่วไปสั้นกว่ามากเมื่อเทียบกับฐานหนวด หนวดส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในการสื่อสารต่างๆ จัดเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในการรับความรู้สึก
          -  ตา ( Eye ) แบ่งออกได้เป็นตาเดี่ยวกับตารวม มดส่วนใหญ่จะมีตารวม บางชนิดไม่มีตารวม ตั้งอยู่บริเวณส่วนหน้าหรือด้านข้า ของส่วนหัว มีขนาดตั้งแต่เป็นจุดเล็กๆจนถึงขนาดใหญ่ ส่วนมากเป็นรูปวงกลม มีบ้างที่เป็นรูปวงรีหรือรูปไต มีหน้าที่สำหรับการมองเห็น ส่วนตาเดี่ยว โดยทั่วไปมี 3ตา อยู่เหนือระหว่างตารวม ส่วนมากพบในเพศผู้และราชินี สำหรับมดงานพบมากในมดเขตหนาวไม่ได้ใช้ในการมองเห็น
          - ปาก (Pincher) มดมีปากแบบกัดกิน (chewing type) มีกรามที่แข็งแรงและขนาดใหญ่ เป็นส่วนที่เห็นชัดที่สุดของปากรูปสามเหลี่ยม กึ่งสามเหลี่ยม หรือเป็นแนวตรง ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญในการจับเหยื่อและป้องกันตัว ทำให้มดส่วนใหญ่เป็นพวกกินสัตว์ อย่างไรก็ตาม มดก็มีอวัยวะที่ใช้ในการดูดน้ำหวานด้วยเช่นกัน


         ส่วนอก

           เป็นส่วนที่สองของลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก อกของมดจะไม่ใช้คำว่า thorax แต่จะใช้ alitrunk แทน เนื่องจากอกของมดประกอบด้วย อกปล้องแรก อกปล้องที่สอง และอกปล้องที่สาม แต่อกปล้องที่สามนี้จะรวมกับท้องปล้องที่หนึ่ง ซึ่งเรียกว่า propodeum ส่วนอกจะเป็นที่ตั้งของส่วนขาและปีก (สำหรับราชินีและเพศผู้) มดงานจะมีส่วนอกปกติ ยกเว้นราชินีอกมีขนาดใหญ่กว่าปีก จะพบในมดเพศผู้และราชินีเท่านั้น มดบางชนิดสันหลังอกและอกปล้องที่สองเชื่อมติดกัน เช่นเดียวกับอกปล้องที่สามกับท้องปล้องที่หนึ่ง มดบางชนิดสันหลังอกมีหนามหรือตุ่มหนาม บางชนิดอาจเป็นแผ่นคล้ายโล่ห์ ขาของมดส่วนมากค่อนข้างยาว ทำให้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วว่องไวมาก ความยาวของขาและรูปร่างของขามดนั้นจะถูกกำหนดโดยพฤติกรรมต่างๆ

        ส่วนเอว
            เป็นส่วนที่สามของมด คือ petiole เป็นปล้องที่สองของส่วนท้อง อาจเป็นก้าน ปุ่ม หรือแผ่น ส่วนถ้ามีสองปล้องคือ petiole กับ post petiole เป็นปล้องที่สองกับปล้องที่สาม postpetiole อาจเป็นปุ่มหรือรูปทรงกระบอกก็ได้ มดบางชนิด petiole อาจมีหนาม 1 คู่

        ส่วนท้อง
            เป็นส่วนท้ายของลำตัวมด เรียกว่า gaster โดยทั่วไปมีรูปร่างทรงกลม แต่บางชนิดเป็นรูปหัวใจหรือทรงกระบอก ปลายส่วนท้องของมดงานส่วนใหญ่มีเหล็กไน บางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ สำหรับชนิดที่ไม่มีเหล็กไนก็จะเป็นช่องเปิดเล็กๆสำหรับขับสารป้องกันตัวออกมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น