เหาคน
เหาคน (human lice)จัดอยู่ใน อันดับอะนอพลูรา (Order Anoplura)
- ตัวเต็มวัยมีหนวดสั้นมาก ปากดูดกิน ตัวเต็มวัยไม่มีปีก อกใหญ่กว่าหัว ทาร์ไซมีปล้องเดียวโดยปลายขาทุกคู่มีเล็บเจริญดีเพื่อยึดเกาะสัตว์อาศัย ตาลดรูป ขนาดเล็กมาก
- เป็นตัวเบียนภายนอก (obligate ectoparasite) ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด หลายชนิดมีที่อาศัยค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เช่น เหาบนศีรษะคน (Pediculus humanus capitis) เหาที่พบตามตัวคน (P. humanus humanus) และตัวโลน มักพบตามขนอวัยวะสืบพันธุ์ที่สกปรก
- เป็นแมลงศัตรูของสัตว์เลี้ยงบางชนิด ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและสุขภาพทรุดโทรม ในคนก่อให้เกิดอาการคัน ระคายเคืองและรำคาญ
เหาเป็นแมลง ดูดเลือดคนเป็นอาหารตั้งแต่ฟักออกจากไข่จนตลอดชีวิต
เหาหัว : อาศัยอยู่บนศีรษะ ดูดเลือดจากศีรษะ และทำให้คัน เกิดการอักเสบ เป็นแผลติดเชื้อ
เหาตัว : อาศัยอยู่ตามขนบริเวณลำตัวและตะเข็บเสื้อผ้า นอกจากดูดเลือดและทำให้คันแล้ว ยังเป็นตัวการนำโรคหลายชนิด เช่น epidemic typhus, trench fever, relapsing fever
โลน : อาศัยอยู่ตามขนบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้เกิดอาการคันรุนแรงมาก
วงจรชีวิตเหา |
วงจรชีวิตของเหา
ไข่ ตลอดชีวิตแม่เหาหรือโลน 1 ตัว วางไข่ได้ดังนี้
เหาหัว 50-150 ฟอง
เหาตัว 270-300 ฟอง
โลน ประมาณ 26 ฟอง
ฟักภายใน 7 - 10 วัน มีสีขาวขุ่น อยู่ติดกับโคนผมหรือขน
ตัวกลางวัย : ลอกคราบ 3 ครั้ง ใช้เวลาในการเจริญเติบโต 7 - 13 วัน
ตัวเต็มวัย : ผสมพันธุ์และวางไข่ภายใน 1 - 2 วัน มีอายุ 2 - 4 สัปดาห์
การติดต่อ : เหาติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ เนื่องจากการใกล้ชิดกัน หรือใช้ของร่วมกัน
กำจัดเหาได้อย่างไร
- ใช้หวีเสนียดสางเหาทิ้งทุกวัน
- ใช้สมุนไพร เช่น ยาฉุน ใบ หรือ เมล็ดน้อยหน่าตำและคั้นกับน้ำหรือน้ำมัน ชโลมผมทิ้งไว้ 3 - 4 ชั่วโมง
- ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดเหาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข ใส่ให้ทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง หรือ ตามฉลาก
- สระผมให้สะอาดเป็นประจำ
- หมั่นนำผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม มาซักหรือผึ่งแดด
- อย่าใช้หวีหรือผ้าเช็ดผมร่วมกับผู้อื่น
- ไม่คลุกคลี หรือนอนใกล้ผู้ที่เป็นเหา
- ครูหรือผู้ปกครองควรตรวจเหาให้เด็กและสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- หากพบว่าเป็นเหา ต้องรีบรักษาทันที
- แนะนำให้เพื่อนและคนในครอบครัว กำจัดเหาพร้อมกันด้วยวิธีที่ถูกต้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น